top of page
พระปรางค์
          พระปรางค์วัดพิชยญาติการาม หรืออาจเรียกว่า “พุทธปรางค์” อาจมีที่มาจากเป็นปรางค์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายในนั่นเอง ประกอบด้วยพระปรางค์ 3 องค์ ปรางค์ประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงกลางและมีปีกปรางค์ 2 ข้าง คติการสร้างพระปรางค์ของวัดพิชยญาติการามมีความแตกต่างจากคติความเชื่อที่เคยมีมาแต่เดิม แสดงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปป์นี้ อันประกอบด้วยพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว 4 พระองค์และอนาคตพุทธเจ้าอีก 1 พระองค์ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย

           ปรางค์ประธานองค์กลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ 4 พระองค์ หันหลังชนกันประกอบด้วยพระพุทธกกุสันโธหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ พระโกนาคมหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก พระกัสสปะหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ พระสมณโคดมหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกรับกับปรางค์ทิศตะวันออก ซึ่งประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรยหันหน้ามายังพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ ส่วนปรางค์ทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยวางในตำแหน่งเดียวกันซึ่งหมายถึงรอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ที่ตรัสรู้แล้วโดยเรียงตามลำดับขนาด

พระปรางค์ประธาน 

        ลักษณะของปรางค์ประธานพิจารณาจากรูปแบบอาจเรียกได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงปรางค์หรือเป็นมณฑปจัตุรมุขยอดปรางค์ กล่าวคือ ตัวอาคารเป็นห้องสี่เหลี่ยมและมีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ที่มุขมีหลังคามุงกระเบื้องซ้อนกัน 3 ชั้น ส่วนยอดเหนือหลังคาจึงเป็นส่วนของพระปรางค์ ลักษณะของอาคารจัตุรมุขยอดปรางค์นี้ปรากฏอีกแห่งหนึ่งคือ ปราสาทเทพบิดรในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

องค์ประกอบพระปรางค์ประธาน

ส่วนล่าง ปรางค์ทั้ง 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ประกอบด้วยชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด รองรับลานประทักษิณซึ่งสามารถเดินได้รอบปรางค์ทั้ง 3 องค์

ส่วนกลาง เหนือลานประทักษิณเป็นส่วนของเรือนธาตุ ซึ่งในที่นี้ทำเป็นอาคารแบบมณฑปจัตุรมุข ประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับตัวอาคารจัตุรมุข เหนือฐานบัว ประกอบด้วยชั้นยักษ์แบก ส่วนล่างประดับด้วยลายกาบพรหมศร ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ หลังคาจัตุรมุขทำซ้อนกัน 3 ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นหลังคาหน้าจั่วมุงกระเบื้อง ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ (ลักษณะผสมระหว่างปากเป็นนกและหงอนเป็นนาค บางครั้งเรียกว่า “นกเจ่า”) ภายในกรอบหน้าบันประดับลวดลายพันธุ์พฤกษามีชั้นเทพนมรองรับส่วนหน้าบัน

ส่วนยอด ส่วนนี้คือส่วนปรางค์หรือปราสาทเหนือหลังคาจัตุรมุขประกอบด้วย ชั้นฐานยักษ์แบกสลับกับชั้นเทพนมรองรับชั้นปราสาทที่ทำซ้อนกันเป็นชั้น ๆ 6 ชั้น แต่ละชั้นประดับบันแถลงหรือกลีบขนุนปรางค์ ลักษณะทรงกลีบขนุนปรางค์ทำแนบชิดกับองค์ปรางค์แล้ว ซึ่งเป็นวิวัฒนาการสืบทอดต่อมาจากอยุธยาและมีลวดลายประดับ ส่วนเรื่องของยักษ์แบกเทพนม คงเปรียบเทียบได้กับพระปรางค์วัดระฆังและวัดอรุณราชวราราม อันมีคติเรื่องของพระปรางค์จำลองมาจากเชาพระสุเมรุในคติของพุทธศาสนา จะพบว่าปรางค์ที่สร้างในรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะมีชั้นซ้อนของปราสาท 6 ชั้นเสมอ อาจหมายถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ นั่นเอง ส่วนยอดของปรางค์ประดับด้วยนพศูลซึ่งพบอยู่ทั่วไปของพระปรางค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

           ความสำคัญของปรางค์ประธาน คือ ภายในประดิษฐานพระพุทธเจ้าปางสมาธิ 4 พระองค์ ซึ่งหมายถึงอดีตพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน นอกจากนี้บริเวณภายในอาคารเป็นที่บรรจุอัฐิของตระกูลบุนนาค ที่สำคัญคือ อัฐิสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (สมเด็จองค์ใหญ่) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (สมเด็จองค์น้อย ผู้สร้างวัดพิชัยญาติ)

 

              

          

พระพุทธเจ้าสี่พระองค์

           ประดิษฐานภายในพระปรางค์ประธาน แสดงปางสมาธิมีรูปแบบเหมือนกันทั้ง 4 องค์ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานบัวแข้งสิงห์ ส่วนบัวหงายมีลายกลีบบัว มีผ้าทิพย์ประดับด้านหน้า พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรค่อนข้างเล็กและเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก ๆ พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระวรกายเพรียวบาง ลักษณะดังกล่าวเป็นแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในงานประติมากรรมสมัยรัชกาลที่ 3

     คติการสร้างพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ประดิษฐานในอาคาร ลักษณะหันหลังชนกันนี้ได้รับความนิยมในศิลปะพุกามของพม่า ซึ่งจะประดิษฐานไว้ในวิหารขนาดใหญ่ ในประเทศไทยมีพบอยู่บางแห่งที่เป็นวัดของชุมชนชาวมอญ ที่เหลือหลักฐานสมบูรณ์คือที่วัดพิชยญาติการามแห่งนี้ จากคติเรื่องรอยพระพุทธบาทสี่รอยและเรื่องของอนาคตพระพุทธเจ้าที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในวัดนี้นอกเหนือจากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กันโดยไม่เคยปรากฏมาก่อนในงานศิลปกรรมไทย

 

               

bottom of page