top of page
พระปรางค์ปีก

          ตั้งอยู่บนลานประทักษิณเดียวกับปรางค์ประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกทั้งสององค์มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ เป็นอาคารจัตุรมุข ประกอบด้วยส่วนฐานสิงห์ ลูกแก้วอกไก่รองรับลักษณะเป็นอาคารจัตุรมุขลดส่วนลงจากอาคารประธาน มีขนาดเล็กลง ไม่มีชั้นยักษ์แบกและเทพพนม หลังคาจัตุรมุขเหลือเพียง 2 ชั้นไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

          รูปแบบของพระปรางค์ปีกทั้ง 2 องค์ สร้างผิดรูปแบบประเพณีที่มีมาแต่เดิมและอาจเกิดขึ้นแห่งเดียวที่นี่ คือ เป็นการทำชึ้นแบบง่าย ๆ ตัวองค์ปรางค์อยู่ในผังกลมไม่ได้เพิ่มมุมตามระเบียบของปรางค์และประดับด้วยลายกลีบขนุนหรือกลีบบัวขนาดใหญ่ติดอยู่โดยรอบซึ่งไม่ใช่ระเบียบของปรางค์ ความสำคัญของปรางค์ปีกทั้งสององค์ คือ องค์ทางทิศตะวันออกประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรย องค์ทิศตะวันตกประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอย

พระศรีอาริยเมตไตรย

       พระศรีอาริยเมตไตรยหรือพระศรีอารย์เป็นพระโพธิสัตว์ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตตามความเชื่อในพุทธศาสนา พระศรีอาริยเมตไตรยประดิษฐานในปรางค์ปีกด้านทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิประทับนั่งหันพระพักตร์ไปยังพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ซึ่งประดิษฐานในพระปรางค์ประธาน รับกับคติที่ว่าพระศรีอาริยเมตไตรยคือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในภัทรกัปป์นี้ 

   พุทธลักษณะของพระศรีอาริยเมตไตรย แสดงด้วยพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธินั่งขัดสมาธิราบ เครื่องทรงอย่างเทวดาตามคติที่กล่าวว่าพระศรีอาริยเมตไตรยคือพระโพธิสัตว์ที่หลุดพ้นแล้ว ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อรอที่จะเสด็จลงมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป พระพักตร์มีลักษณะคล้ายพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ สวมมงกุฏยอดแหลมทรงสูง ประดับกรรเจียก สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การครองจีวร สังฆาฏิปรากฏลวดลายที่ขอบผ้าพร้อมกับการแสดงเครื่องทรงอื่น ๆ ได้แก่ กรองศอ สังวาล 2 สายไขว้กันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พาหุรัด ทองพระกรและพระธำมรงค์ ส่วนสบงแสดงลวดลายบนผ้าเป็นลายยกดอกซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 3

พระพุทธบาทสี่รอย 

          พระพุทธบาทสี่รอยนิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้พบที่วัดพิชยญาติการามด้วยแต่มีลักษณะแปลกไปจากที่เคยพบเห็นกันมา รูปแบบพระพุทธบาทเป็นลักษณะพระพุทธบาทเรียงกันสี่พระบาท ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า 4 พระองค์

 

               

bottom of page