ART HISTORY
พระอุโบสถ
รูปแบบของพระอุโบสถสร้างจัดเป็นงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือเป็นอาคารที่มีอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาผสม หลังคาทำเป็นหน้าบันแบบเก๋งจีนสร้างด้วยปูนปั้นทั้งหมด และประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายอย่างจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์
หน้าบันพระอุโบสถ เป็นปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบที่ทำมาจากจีน ลวดลายเป็นรูปแจกันดอกไม้อยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นรูปน้ำเต้า ที่มุมฐานสามเหลี่ยมเป็นลายปลา ส่วนยอดเป็นลายหงส์คู่หันหัวลงมายังแจกันดอกไม้ในลักษณะสมดุลกันทั้งสองข้างและลวดลายเป็นรูปแบบศิลปะจีนอย่างแท้จริง
พระประธานภายในพระอุโบสถมีนามว่า “พระสิทธารถ”ชาวบ้านเรียกโดยทั่วไปว่า หลวงพ่อสมปรารถนา หน้าตักกว้าง 1.50 เมตร สูง 1.80 เมตร ได้รับการอัญเชิญมาจากวัดพระวิหารหลวง พิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปโบราณรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์และมีเค้าพระพักตร์แบบเดียวกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์
พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างอวบอ้วน พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบลงต่ำแสดงถึงความสงบ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์ยิ้มและริมพระโอษฐ์หยักคล้ายลูกคลื่น ซึ่งถือเป็นพระโอษฐ์แบบสุโขทัยโดยเฉพาะ ขมวดพระเกศาค่อนข้างเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระวรกายงดงามได้สัดส่วน พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก สังฆาฏิเป็นแผ่นเล็กยาวจรดพระนาภี พระเพลากว้าง จากพุทธลักษณะนี้มีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปในหมวดพระพุทธชินราช เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ต่างกันแต่เพียงนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ไม่ยาวเสมอกันเหมือนกับหมวดพระพุทธชินราช อย่างไรก็ตามพระสิทธารถคงสร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันกับพระพุทธชินราช กล่าวคือในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20
พระพุทธรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จมานมัสการและตรัสชมว่ามีพุทธลักษณะที่งดงามมาก จึงได้พระราชทานเศวตฉัตร 5 ชั้นมาถวายเป็นพระราชสักการะด้วย
ข้างหน้าพระประธาน มีพระพุทธรูปปางสมาธิ นามว่า “พระวรวินายก” หน้าตักกว้าง 0.60 เมตร สูง 0.75 เมตร สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงหล่อเมื่อ พ.ศ.2465 พระองค์ทรงมีเชื้อสายสกุลบุนนาคทางพระราชมารดา (พระมารดา คือ สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี เป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้สร้างวัดพิชยญาติการาม) จึงได้เสด็จมาหล่อพระวรวินายกไว้ที่วัดพิชยญาติการามด้วย
พระพุทธรูปองค์นี้นั่งขัดสมาธิเพชรนับเป็นตัวอย่างที่สำคัญองค์หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 มีรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัย ล้านนาและอยุธยา แต่มีลักษณะใหม่ที่ปรากฏขึ้นและน่าจะเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ คือ ชายสังฆาฏิที่ทำเป็นลายหยักโค้งแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นพระราชนิยมที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา