top of page
พระอุโบสถ
         สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารแบบประเพณีนิยม อาคารยกพื้นสูง ก่ออิฐถือปูนหลังคาลด 2 ชั้น ไขราประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักประดับลวดลายอย่างไทยเป็นลายดอกลอย มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่มีการประดับบัวหัวเสาและคันทวย แสดงให้เห็นถึงเทคนิคการก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูหน้าต่างมีลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก ลายอย่างเทศ คือ เป็นลายดอกไม้ใบไม้จำพวกลายดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมเป็นอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับการยกย่องกันว่ามีความงดงามมาก

          ภายในพระอุโบสถ เป็นงานตกแต่งที่ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด งานศิลปกรรมที่โดดเด่นภายในพระอุโบสถ ได้แก่ การออกแบบที่เน้นความโปร่งของอาคาร ให้ความสำคัญกับปราสาทที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน แม้ว่าเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก แต่ทำเป็นบุษบกหรือปราสาททรงสูง ลักษณะของบุษบกมีฐานสิงห์ ยกสูง ตัวเรือนทรงสูงโปร่งทุกด้าน ส่วนหลังคาเป็นทรงปราสาทยอด ลักษณะของการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กในบุษบกเพื่อเป็นประธานของวัดนี้  มักพบอยู่ในงานก่อสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว

          พระประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัยขนาดเล็ก ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเหนือฐานชุกชีลงรักปิดทองประดับกระจกมีลายกระจังแบบไทยประเพณี ทำด้วยโลหะ  นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่ยังคงเค้าพระพักตร์แบบพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที 3 คือ มีพระพักตร์อย่างหุ่น นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ชายสังฆาฏิอยู่กึ่งกลางพระวรกาย สองข้างของพระพุทธรูปประธานยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน 2 องค์ หล่อด้วยโลหะปิดทองประดิษฐานอยู่บริเวณด้านข้างของบุษบก ข้างละองค์  ลักษณะของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์มีความงดงามมากเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3

 

              

bottom of page