top of page
พระอุโบสถ
                 พระอุโบสถเป็นอาคารแบบไทยประเพณี แต่มีโครงสร้างอาคารแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 อาคารมีขนาดใหญ่และกว้าง มีเสาพาไลเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ใช้ในการรองรับน้ำหนักของชายคาและไม่มีการประดับบัวหัวเสา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นประดับกระจกสีเป็นลายดอกโบตั๋น ลักษณะของการวางลายมีดอกไม้ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยลายใบไม้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่จากลวดลายประเพณีนิยมที่มีมาตั้งแต่ศิลปะอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่เดิมมักเป็นลายปูนปั้นหรือไม้แกะสลักเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ การปรับเปลี่ยนเป็นลายดอกโบตั๋นนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน

          ผนังตรงกลางระหว่างประตูทั้งสองเจาะเป็นช่องหน้าต่างแปดเหลี่ยม ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษาปิดทองหรือลายอย่างเทศ (ภาพที่ 4) เสาภายในพระอุโบสถด้านล่างเขียนลายกรุยเชิงในกรอบลายไทยแต่ภายในเป็นลายดอกโบตั๋น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชฐานผ้าพระกฐิน ทรงเห็นว่าพระอุโบสถมีเสาห่างเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายจึงได้สร้างเสาเติมอีกข้างละ 2 เสา ทำให้เสาพระอุโบสถดูถี่

       ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน หล่อในปี พ.ศ.2371 เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้ให้ช่างชาวไทยเป็นผู้หล่อและได้ว่าจ้างช่างลงรักปิดทองมาจากประเทศญี่ปุ่น และถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่นำช่างฝีมือปิดทองชาวต่างชาติมาจากประเทศญี่ปุ่น พระประธานองค์นี้ไม่ได้รับพระราชทานนามในระยะแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธธรรมวิเชฏฐศาสดา”

       พระพุทธรูปประธานมีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เรียกว่าพระพักตร์อย่างหุ่น กล่าวคือ พระพักตร์รูปไข่ ค่อนข้างเล็ก พระโอษฐ์แย้มสรวลเล็กน้อยแบบเรือประทุน ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระวรกายเพรียวบางได้สัดส่วน ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่อยู่กึ่งกลางพระวรกาย อันเป็นแบบแผนที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ต่างไปจากพระพุทธรูปองค์อื่นคือมีชายสังฆาฏิตัดตรง นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน

 

               

bottom of page