ART HISTORY
พระวิหาร
พระวิหารเป็นอาคารขนาดเล็กที่มีความงดงามสมส่วนด้วยการออกแบบและงานประดับตกแต่ง ได้แก่ ลวดลายของประตูและหน้าต่าง อีกทั้งซุ้มและงานประดับตกแต่งบานประตูหน้าต่าง โครงสร้างของพระวิหารยังเป็นงานที่ได้รับรับอิทธิพลของการสร้างจากสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ การสร้างอาคารที่มีหน้าบันก่ออิฐถือปูน มีเสาพาไลรองรับชายคา ไม่มีการประดับบัวหัวเสา แต่สิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเป็นงานก่อสร้างที่เกิดขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 และต้นรัชกาลที่ 4 คือ การประดับหน้าบันที่มีการนำช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งแต่เป็นงานกระเบื้องเคลือบและมีการปรับเปลี่ยนตัวช่อฟ้าและหางหงส์ที่เป็นตัวนาคมีปากเป็นนก บางครั้งเรียกว่า นกเจ่า ปรากฏที่วัดเฉลิมพระเกียรติและพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นช่วงระยะเวลาของการก่อสร้างที่ใกล้เคียงกัน
ที่หน้าบันมีตราสุริยมณฑล เป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมด้วยม้าซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ อันเป็นสัญลักษณ์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ส่วนที่ช่องประตูมีรูปของพระอาทิตย์แบบศิลปะตะวันตกที่มีหน้าบุคคลและมีแสงสว่างออกมา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์พระอาทิตย์ของชาวตะวันตก คล้ายกับที่ปรากฏในพระราชวังแวร์ซายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปพระอาทิตย์ บริเวณซุ้มประตู หน้าต่างเป็นลายปูนปั้น ปิดทอง ประดับกระจกรูปตราสุริยมณฑลแบบไทยเทิดมหามงกุฎ บานประตูหน้าต่างด้านนอกเป็นไม้สลัก ลวดลายตรงกลางเป็นตราสุริยมณฑลแบบฝรั่ง คือ เป็นตรารูปพระอาทิตย์ บานประตูหน้าต่างด้านในเขียนภาพเครื่องโต๊ะบูชาแบบจีน ด้านนอกพระวิหารมีระเบียงล้อมรอบ ด้านในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหมู่ มีพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธาน ผนังมีภาพจิตรกรรมฝีมือประณีตงดงาม ภาพตอนบนวิหารเป็นของเดิม ถ้าระดับต่ำลงมามีการซ่อมแซมและเขียนใหม่ตามแบบลวดลายเดิม
จิตรกรรม
งานจิตรกรรมตกแต่งภายในเป็นการผสมผสานกันระหว่างจิตรกรรมแนวแบบไทยประเพณีที่เขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติ และทศชาติ แต่มีการใช้เทคนิคและการแสดงออกทางศิลปะแบบตะวันตก
ฝาผนังตอนบนมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ ฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพจิตรกรรมพระเจ้าสิบชาติ ที่กรอบประตูและกรอบหน้าต่างพระวิหารมีคำโคลงสุภาษิตโลกนิติ 28 บท มีภาพลายรดน้ำประกอบ
ผนังเหนือช่องหน้าต่างทุกด้านเขียนเป็นภาพพุทธประวัติที่ต่อเนื่องกันทั้งหมด โดยบนสุดเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมอยู่ในมุมมองที่ไกลสุดเหมือนอยู่บนท้องฟ้าที่ไกลออกไปและเป็นภาพเล็ก ๆ เขียนเป็นแถวแบบเหมือนจริง ฉากของภาพพุทธประวัติได้คัดเลือกเฉพาะตอนสำคัญ ๆ มาเขียนและเขียนต่อเนื่องกันโดยใช้องค์ประกอบของภาพสำคัญเป็นศูนย์กลางในการมองว่าเป็นตอนใด ใช้แนวธรรมชาติเป็นตัวแบ่งภาพ ตัวภาพเหตุการณ์โดยเฉพาะภาพบุคคลยังเขียนแบบแนวประเพณีนิยม ส่วนการแสดงออกของฉากธรรมชาติและองค์ประกอบอื่น ๆ เขียนในแนวเหมือนจริง เช่น ฉากอาคารบ้านเรือนเขียนในแนวสามมิติที่เป็นอิทธิพลตะวันตก ในระยะแรกที่เขียนช่างอาจยังไม่มีความชำนาญมากนักซึ่งเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร โดยมีช่างคนสำคัญ คือ ขรัวอินโข่งเป็นผู้เริ่มเขียน ดังนั้นที่พระวิหารแห่งนี้อาจเป็นฝีมือช่างขรัวอินโข่งหรือสกุลช่างขรัวอินโข่งมาร่วมในการเขียนด้วย
จิตรกรรมที่ประดับตกแต่งอาคารที่เป็นลักษณะเด่น คือ ด้านในของบานประตูและบานแผละเขียนภาพจิตรกรรมตะวันตกเป็นรูปเทวดา (คิวปิด) ส่วนบานหน้าต่างเป็นรูปแจกันดอกไม้ โคมไฟ ในศิลปะตะวันตก การใช้โทนสีและหน้าตาของเทวดา แจกัน โคมไฟและดอกไม้ล้วนเป็นแบบตะวันตกทั้งสิ้น ลักษณะดังกล่าวนี้น่าจะเป็นงานที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้เริ่มมีการนำศิลปะตะวันตกเข้ามาใช้ในงานประดับตกแต่งอย่างแท้จริง
แผนผังจิตรกรรมวิหารวัดบุปผาราม
หมายเลข 1-10 ภาพจิตรกรรมทศชาติชาดก หมายเลข 11-36 ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ
หมายเลขที่ 37-40 ภาพจิตรกรรมเทวดาศิลปะตะวันตก
สัญลักษณ์สีในแผนผังจิตรกรรม
หมายถึง เสาพาไล
หมายถึง ประตูพระวิหาร
หมายถึง หน้าต่างในพระวิหาร
หมายถึง คอสองบริเวณเสาพาไล
1 เตมียชาดก
2 มหาชนกชาดก
3 สุวรรณสามชาดก
4 เนมิราชชาดก
5 มโหสถชาดก
6 ภูริทัตตชาดก
7 จันทกุมารชาดก
8 นารทชาดก
9 วิธุรชาดก
10 พระเวสสันดรชาดก
11 เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
12 เจ้าชายสิทธัตถะเห็นเทวทูตทั้งสี่
13 เจ้าชายสิทธัตถะออกบรรพชา
14 เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี
15 นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส
16 พญามารยกทัพมาขัดขวางการตรัสรู้
17 พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
18 ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าบรรลุอรหันต์
19 พระพุทธเจ้าเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์
20 พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ทรมาน
เหล่าพระประยูรญาติที่มีทิฐิ
21 พระพุทธเจ้าถวายพระเพลิงพระบิดา
22 พระนางปชาบดีโคตรมีขออุปสมบทเป็นภิกษุณี
23 คหบดีถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า
24 พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์
25 พระพุทธเจ้าโปรดพุทธมารดา
26 พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
27 พระสารีบุตรนิพพาน
28 พระโมคคัลลานะเหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลลาเข้านิพพาน
29 พระพุทธเจ้าโปรดชาวเมืองไพสาลี
30 พระพุทธเจ้าโปรดเสด็จเรือนนายจุนทะ
31 พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน
32 พระอานนท์แจ้งข่าวปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์
33 พิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้า
34 กองทัพกษัตริย์ยกทัพมาเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ
35 โทณพราหมณ์ระงับสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ
36 โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้กษัตริย์
37 นางฟ้าถือเครื่องดนตรีศิลปะตะวันตก
38 กามเทพถือเครื่องดนตรี
39 กามเทพศิลปะตะวันตก
40 กามเทพศิลปะตะวันตก