ART HISTORY
อุทยานเขามอ
เขามอหรือภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยศิลา ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด เป็นที่ประดิษฐานเป็น พระสถูปเจดีย์ สร้างจากทองเหลือง พระวิหารจำลอง ศาลาราย แวดล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ เป็นรมณียสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
คำว่า "มอ" มาจากคำว่า "ถมอ" ในภาษาเขมร แปลว่า ก้อนหิน เขามออาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เขามอขนาดเล็กที่ประดับอยู่ในกระถางเป็นศิลปะการจัดสวนและเขามอขนาดใหญ่ สำหรับก่อบนพื้นดินหรือกลางสระน้ำ จัดให้มียอดเขาสูงลดหลั่นตามลำดับ ใช้ประดับตกแต่งพระอารามและพระราชอุทยาน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้สร้างภูเขาจำลองนี้โดยได้แนวคิดเค้าโครงภูเขาจำลองมาจากหยดเทียนขี้ผึ้ง ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ท่าน หยดเทียนขี้ผึ้งนี้เกิดจากน้ำตาเทียนที่พระองค์ทรงจุดน้ำตาเทียนทับถมกันเป็นเวลาหลายปีจนก่อรูปคล้ายภูเขา
ในอดีต ประมาณกลางเดือนมีนาคมของทุกปี วัดประยุรวงศาวาสจะจัด"งานวัดประยูร" หรือ "งานญาติสมาคม"
สันนิษฐานว่าจัดขึ้นครั้งแรกโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) และเหล่าราชินิกุลสกุลบุนนาค เมื่อปี พ.ศ.2454 "งานวัดประยูร ฯ "เป็นงานวัดที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงของฝั่งธนบุรีเช่นเดียวกับ "งานนักขัตฤกษ์ฤดูหนาววัดเบญจมบพิตร" ของฝั่งพระนคร วัดประยุรวงศาวาสจะจัดให้มีงานนมัสการปิดทองพระพุทธฉายบริเวณเขามอตลอดระยะเวลา 7 วัน 7 คืน มีการออกร้านของเจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและลูกหลานในราชินิกุลสกุลบุนนาค และมีนายห้างชาวต่างชาติ จัดแสดงสิ่งของอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ได้รับความสนใจจากชาวพระนครเป็นอันมาก แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 งานนี้ได้ล้มเลิกไป
ภายในบริเวณอุทยานเขามอมีจุดที่ควรชม ดังต่อไปนี้
ศาลาสุวพักตร์วิไลยพรรณ (ศาลาฝรั่ง)

ศาลาสุวพักตร์วิไลยพรรณตั้งอยู่บริเวณทางเข้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขามอ สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ต่อมาในปี พ.ศ.2470 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาหลังใหญ่ที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้สร้างไว้ โปรดให้ประดิษฐานตราสัญลักษณ์และอักษรพระนาม ศ.ว. บริเวณหน้าบันศาลา
รูปแบบสถาปัตยกรรมของศาลาหลังนี้เป็นแบบตะวันตก เป็นศาลาโถงใหญ่รูปสี่เหลี่ยม เปิดโล่ง ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นทรงแบน ด้านบนเป็นพื้นเรียบ มีเสาและคานเป็นหิน ประดับลวดลายศิลปะแบบเรอเนซองส์ ฝ้าเพดานฉาบเรียบสีขาว เสาเซาะร่อง
อนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก

สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ปืนใหญ่ที่เอามาทำเป็นไฟพะเนียงแตกในคราวงานฉลองสมโภชพระอารามเมื่อปี พ.ศ.2379 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ขณะนั้นหมอบรัดเลย์ซึ่งอาศัยบ้านเช่าบริเวณใกล้ท่าน้ำวัดประยุรวงศาวาส ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 250 เมตร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้ให้คนไปตามหาหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บ มีพระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์จำต้องตัดแขนพระรูปนั้น การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นานนัก การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดในครั้งนั้น นับเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดอวัยวะครั้งแรกในสยาม
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก แท่นฐานทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีปืนใหญ่สามกระบอกปักลงไปในแท่น หัวท้ายของแท่นประดับปูนปั้นเป็นรูปหัวสิงโตยื่นออกมา หน้าแท่นมีแผ่นจารึกข้อความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น
พระมณฑปทรงโกธิค


ตั้งอยู่บริเวณทางทิศใต้ของเขามอ พระมณฑปทรงโกธิค เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อแขก สันนิษฐานว่าอาจออกแบบโดยนายโจอาคิโน หรือโจอาคิม แกรซี ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและเป็นสถาปนิกชาวตะวันตก
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารแบบตะวันตกทรงสูงคล้ายกับโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ตัวอาคารมีความโดดเด่นในเรื่องของเสาโกธิคไม่ทึบตัน มีหลังคาเป็นโดมกระเบื้องสีแดง ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าสักการะพระพุทธรูป เมื่อ ปี พ.ศ.2470 เจ้าจอมเลียมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชักชวนญาติพี่น้องในตระกูลบุนนาค สร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์หุ้มรูปหล่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้เป็นคุณทวดของท่าน แล้วประดิษฐานในมณฑปทรงโกธิค เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปคันธาระของอินเดีย ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อแขก”
พระมณฑปทรงโกธิคจำลอง
ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขามอ เป็นที่ตั้งของพระมณฑปทรงโกธิคอีกหลังหนึ่ง อาจสร้างขึ้นพร้อมกับพระมณฑปทรงโกธิคที่ประดิษฐานหลวงพ่อแขกหรืออาจสร้างขึ้นโดยคณะกรรมการผู้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของท่านผู้หญิงพรรณ ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในคราวเดียวกับการสร้างพรรณาคาร เมื่อ พ.ศ.2439 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิคเช่นเดียวกัน
รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระมณฑปทรงโกธิคจำลอง เป็นอาคารแบบตะวันตก ทรงสูงมียอด 8 ยอด ตั้งอยู่บนภูเขาจำลอง ฐานชั้นที่สอง เจาะเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
พระสถูปเจดีย์จำลอง


สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิบุคคลสำคัญหรือพระพุทธรูป จัดเป็นถาวรวัตถุที่สำคัญที่สุดในบริเวณนี้
รูปแบบทางศิลปกรรมของพระสถูปเจดีย์จำลอง เป็นเจดีย์ทรงกลมเช่นเดียวกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้อรรถาธิบายไว้ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์ว่า " วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามแรก ๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ที่นิยมทรงเจดีย์ทรงกลม..." ตามที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้รับคำแนะนำจากพระวชิรญาณมหาเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช) องค์เจดีย์สร้างด้วยทองเหลือง ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงใหญ่ ย่อมุมไม้สิบสอง มีเสาหัวเม็ดอยู่ทุกมุมทั้ง 4 ด้าน ฐานชั้นถัดมาเป็นฐานรองรับองค์เจดีย์ มาลัยเถา เหนือมาลัยเถาขึ้นไปเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอดตามลำดับ
พระวิหารหลวงจำลอง

ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระสถูปเจดีย์จำลอง สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดประยุรวงศาวาส ปรากฏหลักฐานว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้้งใหญ่โดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรคนสุดท้ิองของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เมื่อพุทธศักราช 2328
ต่อมาในปี พ.ศ.2470 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่อน ธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงจำลอง สิ้นทรัพย์ 750 บาท ทรงอุทิศพระกุศลให้เจ้าจอมเอื้อน ผู้เป็นพระมาตุฉา (น้าสาว) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในปีนี้
รูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นอาคารไทยประเพณี ก่ออิฐถือปูน มีเสาพาไลรับปีกนก หลังคาเป็นหลังคาจั่ว ทำเป็นชั้นลด 2 ชั้น ใช้กระเบื้องเคลือบสีเขียวและสีเหลือง ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับลายดอกพุดตานทองพื้นกระจกสีขาว บานประตูเขียนลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง พนักระเบียงประดับลูกแก้วดินเผาเคลือบสี
ศาลาจำลอง (ทิศเหนือ)


ทางทิศเหน ือของเขามอใกล้กับพระพุทธปรางค์ เป็นถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นพร้อมกับเขามอ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นศาลาราย เช่นเดียวกับศาลาจำลองด้านทิศใต้ ศาลาหลังนี้ เป็นศาลาเปิดโล่ง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูน เสาสี่เหลี่ยมย่อมุม หลังคาจั่วปิด ยกคอสองโดยรอบ หน้าบันทำเป็นลวดลายดอกพุดตานอ่อนช้อยงดงาม เครื่องลำยองมีลายปูนปั้นแบบจีน ใบระกาทำเป็นดอกไม้และใบไม้ หลังคาประดับช่อฟ้าทำเป็นหัวนกเจ่า
เก๋งจีน


ตั้งอยู่บริเวณริมสระน้ำ ที่สร้างขึ้นพร้อมกับเขามอ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาลเจ้าที่ ตี่จู่เอี๊ยหรือโถวตี่กง ประจำเขามอ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่จะช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและทำมาค้าขึ้น รูปแบบสถาปัตยกรรมของเก๋งจีน เป็นลักษณะศาลเจ้าที่แบบจีน ภายในประดิษฐานรูปเคารพเทพเจ้า "ตี่จู่เอี๊ย" หรือ "โถวตี่กง"
พระพุทธปรางค์

พระพุทธปรางค์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของสถูปเจดีย์จำลอง สันนิษฐานว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเขามอ เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของเชื้อสายคนสำคัญในราชินิกุลบุนนาค
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นพระปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประกอบไปด้วยฐานสิงห์ ตัวเรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ส่วนของเรือนยอดประดับด้วยกลีบขนุน นพศูล
พระพุทธฉาย
