ART HISTORY
อุทยานเขามอ
เขามอหรือภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยศิลา ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด เป็นที่ประดิษฐานเป็น พระสถูปเจดีย์ สร้างจากทองเหลือง พระวิหารจำลอง ศาลาราย แวดล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ เป็นรมณียสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
คำว่า "มอ" มาจากคำว่า "ถมอ" ในภาษาเขมร แปลว่า ก้อนหิน เขามออาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เขามอขนาดเล็กที่ประดับอยู่ในกระถางเป็นศิลปะการจัดสวนและเขามอขนาดใหญ่ สำหรับก่อบนพื้นดินหรือกลางสระน้ำ จัดให้มียอดเขาสูงลดหลั่นตามลำดับ ใช้ประดับตกแต่งพระอารามและพระราชอุทยาน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้สร้างภูเขาจำลองนี้โดยได้แนวคิดเค้าโครงภูเขาจำลองมาจากหยดเทียนขี้ผึ้ง ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ท่าน หยดเทียนขี้ผึ้งนี้เกิดจากน้ำตาเทียนที่พระองค์ทรงจุดน้ำตาเทียนทับถมกันเป็นเวลาหลายปีจนก่อรูปคล้ายภูเขา
ในอดีต ประมาณกลางเดือนมีนาคมของทุกปี วัดประยุรวงศาวาสจะจัด"งานวัดประยูร" หรือ "งานญาติสมาคม"
สันนิษฐานว่าจัดขึ้นครั้งแรกโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) และเหล่าราชินิกุลสกุลบุนนาค เมื่อปี พ.ศ.2454 "งานวัดประยูร ฯ "เป็นงานวัดที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงของฝั่งธนบุรีเช่นเดียวกับ "งานนักขัตฤกษ์ฤดูหนาววัดเบญจมบพิตร" ของฝั่งพระนคร วัดประยุรวงศาวาสจะจัดให้มีงานนมัสการปิดทองพระพุทธฉายบริเวณเขามอตลอดระยะเวลา 7 วัน 7 คืน มีการออกร้านของเจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและลูกหลานในราชินิกุลสกุลบุนนาค และมีนายห้างชาวต่างชาติ จัดแสดงสิ่งของอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ได้รับความสนใจจากชาวพระนครเป็นอันมาก แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 งานนี้ได้ล้มเลิกไป
ภายในบริเวณอุทยานเขามอมีจุดที่ควรชม ดังต่อไปนี้
ศาลาสุวพักตร์วิไลยพรรณ (ศาลาฝรั่ง)
ศาลาสุวพักตร์วิไลยพรรณตั้งอยู่บริเวณทางเข้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขามอ สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ต่อมาในปี พ.ศ.2470 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาหลังใหญ่ที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้สร้างไว้ โปรดให้ประดิษฐานตราสัญลักษณ์และอักษรพระนาม ศ.ว. บริเวณหน้าบันศาลา
รูปแบบสถาปัตยกรรมของศาลาหลังนี้เป็นแบบตะวันตก เป็นศาลาโถงใหญ่รูปสี่เหลี่ยม เปิดโล่ง ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นทรงแบน ด้านบนเป็นพื้นเรียบ มีเสาและคานเป็นหิน ประดับลวดลายศิลปะแบบเรอเนซองส์ ฝ้าเพดานฉาบเรียบสีขาว เสาเซาะร่อง
อนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก
สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ปืนใหญ่ที่เอามาทำเป็นไฟพะเนียงแตกในคราวงานฉลองสมโภชพระอารามเมื่อปี พ.ศ.2379 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ขณะนั้นหมอบรัดเลย์ซึ่งอาศัยบ้านเช่าบริเวณใกล้ท่าน้ำวัดประยุรวงศาวาส ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 250 เมตร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้ให้คนไปตามหาหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บ มีพระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์จำต้องตัดแขนพระรูปนั้น การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นานนัก การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดในครั้งนั้น นับเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดอวัยวะครั้งแรกในสยาม
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก แท่นฐานทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีปืนใหญ่สามกระบอกปักลงไปในแท่น หัวท้ายของแท่นประดับปูนปั้นเป็นรูปหัวสิงโตยื่นออกมา หน้าแท่นมีแผ่นจารึกข้อความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น
พระมณฑปทรงโกธิค
ตั้งอยู่บริเวณทางทิศใต้ของเขามอ พระมณฑปทรงโกธิค เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อแขก สันนิษฐานว่าอาจออกแบบโดยนายโจอาคิโน หรือโจอาคิม แกรซี ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและเป็นสถาปนิกชาวตะวันตก
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารแบบตะวันตกทรงสูงคล้ายกับโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ตัวอาคารมีความโดดเด่นในเรื่องของเสาโกธิคไม่ทึบตัน มีหลังคาเป็นโดมกระเบื้องสีแดง ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าสักการะพระพุทธรูป เมื่อ ปี พ.ศ.2470 เจ้าจอมเลียมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชักชวนญาติพี่น้องในตระกูลบุนนาค สร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์หุ้มรูปหล่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้เป็นคุณทวดของท่าน แล้วประดิษฐานในมณฑปทรงโกธิค เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปคันธาระของอินเดีย ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อแขก”
พระมณฑปทรงโกธิคจำลอง
ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขามอ เป็นที่ตั้งของพระมณฑปทรงโกธิคอีกหลังหนึ่ง อาจสร้างขึ้นพร้อมกับพระมณฑปทรงโกธิคที่ประดิษฐานหลวงพ่อแขกหรืออาจสร้างขึ้นโดยคณะกรรมการผู้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของท่านผู้หญิงพรรณ ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในคราวเดียวกับการสร้างพรรณาคาร เมื่อ พ.ศ.2439 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิคเช่นเดียวกัน
รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระมณฑปทรงโกธิคจำลอง เป็นอาคารแบบตะวันตก ทรงสูงมียอด 8 ยอด ตั้งอยู่บนภูเขาจำลอง ฐานชั้นที่สอง เจาะเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป